ไข้อีดำอีแดง คือ โรคที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง โดยจะแสดงอาการออกมาเป็นผื่นแดงตามตัว รวมทั้งมีอาการของโรคทอนซิลอักเสบร่วมด้วย เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กอายุ 5-15 ปี ปัจจุบันพบว่า โรคนี้มีการเป็นน้อยลงมาก เนื่องจากผู้ป่วยมักได้รับยาปฏิชีวนะตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม
อาการไข้อีดำอีแดง
ในระยะแรกเริ่ม ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูงขึ้น มีอาการหนาวสั่น เจ็บคอมาก ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว และอาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียนร่วมด้วย
ใน 1-2 วันหลังจากที่เริ่มมีไข้ ก็จะมีผื่นแดงเริ่มขึ้นที่คอ หน้าอก และรักแร้ แล้วกระจายไปตามส่วนต่างๆ ของลำตัวและแขนขาภายใน 24 ชั่วโมง ลักษณะของผื่นจะมีลักษณะคล้ายกับกระดาษทราย และอาจมีอาการคันต่อมา ผื่นจะปรากฎออกมาเด่นชัดขึ้น ในบริเวณร่องหรือรอยพับส่วนต่างๆ ของผิวหนัง (โดยเฉพาะที่คอ รักแร้ ข้อพับแขน ขาหนีบ ข้อพับขา) ต่อมาในบริเวณเหล่านี้จะเริ่มเป็นจุดเลือดออกมาใต้ผิวหนังเรียงเป็นเส้น (เนื่องจากการแตกของหลอดเลือดฝอย) เรียกว่า “เส้นพาสเตีย (Pastia’s lines)”
หลังจากที่เริ่มเป็นแล้วประมาณ 3-4 วัน ผื่นก็จะเริ่มจางหายหรือลดลงไป และเมื่อผื่นเริ่มจางไปได้ประมาณ 1 สัปดาห์ จะเริ่มมีอาการลอกของผิวหนังออกมา มักเห็นเด่นชัดที่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ ปลายนิ้วมือนิ้วเท้า ซึ่งอาจจะเห็นว่า ลอกออกมาเป็นแผ่น ส่วนตามลำตัวมักจะลอกออกมาเป็นขุย ซึ่งอาการที่ผิวหนังลอกเป็นลักษณะจำเพาะของโรคไข้อีดำอีแดง
*** ในบางราย ผิวอาจลอกออกติดต่อกันนานถึง 6 สัปดาห์
สาเหตุไข้อีดำอีแดง
โรคนี้มีสาเหตุหรือเกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บีตา-ฮีโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (group A beta-hemolytic Streptococcus) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่สร้างสารพิษ (erythrogenic exotoxin) ออกมา ซึ่งทำให้มีอาการหรือทำให้เกิดผื่นแดงขึ้นตามผิวหนังของร่างกาย
เชื้อแบคทีเรียของโรคนี้จะมีอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อได้โดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองของเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรดเข้าไป หรือติดต่อได้จากการที่ไปสัมผัสกับมือของผู้ป่วย สิ่งของ หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อชนิดนี้อยู่ ก็สามารถทำให้เป็นโรคนี้ได้
*** ระยะฟักตัวของเชื้ออยู่ที่ 2-7 วัน โดยประมาณ
*** ไข้อีดำอีแดง มักเกิดร่วมกับทอนซิลอักเสบเป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็อาจเกิดร่วมกับการติดเชื้อที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้เช่นกัน อาทิ ผิวหนัง แผลผ่าตัด มดลูก เป็นต้น
สิ่งที่ตรวจพบ
• ผู้ป่วยมักมีไข้มากกว่า 38.3° องศาเซลเซียส ต่อมทอนซิลมีอาการบวมแดง และมักจะมีแผ่นหรือจุดหนองขาวๆ เหลืองๆ ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณข้างคอด้านหน้าหรือใต้ขากรรไกรบวมโตและเจ็บ
• หน้าของผู้ป่วยแดง แต่บริเวณรอบๆ ปากจะซีด
• ในช่วงที่เริ่มเป็น 2 วันแรก หรือช่วงที่เริ่มเป็นไข้ อาจพบว่า ลิ้นมีฝ้าสีขาวปกคลุมทั่ว และอาจมีตุ่มแดงยื่นขึ้นเป็นตุ่มๆ สลับคล้ายผลสตรอเบอรี่ เรียกว่า ลิ้นสตรอเบอรี่แดง (red strawberry tongue)
• ตามบริเวณผิวหนังของผู้ป่วยจะพบว่า มีผื่นแดงคล้ายกระดาษทรายและ “เส้นพาสเตีย” (ในช่วงประมาณสัปดาห์แรกที่เป็น) และมีอาการผิวหนังลอก (ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 2 ผ่านไปแล้ว)
ภาวะแทรกซ้อน
เช่นเดียวกับภาวะแทรกซ้อนของโรคทอนซิลอักเสบที่เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรีย บีตา-ฮีโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ ฝีทอนซิล ข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้รูมาติก หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น
วิธีรักษาไข้อีดำอีแดง
การรักษาที่สำคัญ คือ การให้ยาปฏิชีวนะในการรักษา เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน โดยให้ยานาน 10 วัน ร่วมกับการรักษาตามอาการอื่นๆ ที่ปรากฎ
*** ในรายที่แสดงอาการของโรคออกมาไม่ชัดเจน อาจจะต้องทำการส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี rapid strep test หรือ ด้วยการเพาะเชื้อ
การป้องกันไข้อีดำอีแดง
เมื่อมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคไข้อีดำอีแดง ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือการใกล้ชิดกับผู้ป่วย อย่าใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วยและหมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่
*** ผู้ป่วยต้องระมัดระวังไม่ให้ไอหรือจามรดผู้อื่น
คำแนะนำ
1) ในการรักษานั้นควรเน้นกับผู้ป่วยให้กินยาปฏิชีวนะจนกระทั่งครบตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อทำให้การรักษาได้ประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบขึ้นมาอีก
2) เมื่อพบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคไข้อีดำอีแดง ควรทำการแยกผู้ป่วย จนกว่าจะมีการให้ยาปฏิชีวนะไปแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมงขึ้นไป จึงจะไม่แพร่เชื้อให้คนผู้อื่น