Categories
Uncategorized

ทอนซิลอักเสบ – อาการ, สาเหตุ, วิธีรักษา, การป้องกัน

ทอนซิลอักเสบ

ทอนซิลอักเสบ คือ โรคที่มักทำให้เกิดอาการเจ็บคอเป็นสำคัญ หรือบางคนอาจจะเรียกว่าโรคนี้ตามอาการที่เป็น คือ คอหอยอักเสบ ซึ่งเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ มีทั้งที่เป็นแบบติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ โดยในที่นี้จะกล่าวถึงการอักเสบเฉพาะที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ซึ่งเกิดขึ้นมาจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการเป็นทอนซิลอักเสบที่เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรีย บีตา-ฮีโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (group A beta-hemolytic Streptococcus) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย และที่สำคัญเป็นเชื้อที่อาจส่งผลหรือทำให้อาการที่รุนแรงได้

อาการทอนซิลอักเสบ

สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส จะมีอาการเจ็บคอเล็กน้อยถึงปลานกลาง แต่จะไม่เจ็บเวลาที่กลืนน้ำลายหรือกลืนอาหาร อาจมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น เป็นหวัด มีไข้ ปวดศีรษะเล็กน้อย น้ำมูกใส ไอ เสียงแหบ ตาแดง หรือในบางรายอาจมีอาการท้องเดินหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย

สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นทอนซิลอักเสบที่เกิดขึ้นจากเชื้อ บีตา-ฮีโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ มักจะมีอาการไข้ขึ้นสูงอย่างฉับพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว เจ็บคอมากจนกลืนอาหาร น้ำ หรือน้ำลายลำบาก และอาจมีอาการปวดร้าวที่บริเวณหู ในบางราย อาจมีอาการปวดท้อง หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ผู้ป่วยจากเชื้อชนิดนี้ มักไม่มีน้ำมูกไหล ไอ หรือตาแดง

สิ่งที่ตรวจพบ

สำหรับผู้ป่วยที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส อาจจะมีหรือไม่มีไข้ก็ได้ ผนังคอหอยอาจมีลักษณะแดงเพียงเล็กหรือไม่แสดงอาการโดยชัดเจน ต่อมทอนซิลอาจโตขึ้นเล็กน้อย ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักพบว่า จะมีลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน หรืออาจพบว่ามีน้ำมูกใสๆ หรือ ตาแดง (เยื่อตาขาวอักเสบ)

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นทอนซิลอักเสบจากเชื้อ บีตา-ฮีโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ จะพบว่า มักมีไข้มากกว่า 38.3 องศาเซลเซียส ผนังคอหอยหรือเพดานอ่อนจะมีลักษณะอาการแดงจัดและบวม ต่อมทอนซิลบวมโต มีสีแดงจัด และมีแผ่นหรือจุดหนองขาวๆ เหลืองๆ อยู่ที่บนต่อมทอนซิล ซึ่งเขี่ยออกง่าย นอกจากนี้อาจพบว่า ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอด้านหน้าหรือใต้ขากรรไกรบวมโตและเจ็บ

*** ถ้าพบว่าเป็นแผ่นเยื่อที่มีสีเทาหรือสีเหลืองปนเทา ซึ่งเขี่ยออกได้ยากและมีเลือดไหลออกด้วย ควรนึกถึงโรคคอตีบ โดยเฉพาะถ้ามีอาการไอเสียงแหบ หรือหายใจหอบร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อน

สำหรับผู้ที่เป็นทอนซิลอักเสบที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะหรืออาการแทรกซ้อนร้ายแรง แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นทอนซิลอักเสบจาก บีตา-ฮีโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ อาจมีภาวะแทรกซ้อนหรืออาการแทรกซ้อนได้ดังนี้

1) ในกรณีที่เชื้อลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง อาจทำให้หูชั้นกลางอักเสบได้ หรือต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ หรือจมูกอักเสบ หรือไซนัสอักเสบ หรือปอดอักเสบ หรืออาจทำให้เป็นฝีทอนซิล (peritionsillar abscess) ซึ่งอาจมีขนาดโตจนทำให้กลืนอาหารและหายใจได้ลำบาก

2) ในกรณีที่เชื้อแพร่เข้าไปยังกระแสเลือด อาจจะทำให้เป็นข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลันได้ และอาจส่งผลให้กระดูกอักเสบและเป็นหนอง (osteomyelitis) หรือร้ายแรงถึงขั้นเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้

3) นอกจาก 2 กรณีในข้างต้น ก็ยังมีโกาสทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่สำคัญได้ คือ ไข้รูมาติก และ หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากการเป็นทอนซิลอักเสบ 1-4 สัปดาห์ โรคแทรกซ้อนเหล่านี้มักทำให้เกิดปาฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmune reaction) สำหรับไข้รู้มาติก มักมีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณร้อยละ 0.3-3 ของผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาทอนซิลอักเสบด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง

สาเหตุทอนซิลอักเสบ

ส่วนใหญ่แล้วจะมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด และ ไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งไวรัสชนิดอื่นๆ อีกหลากกลายชนิดที่อาจทำให้เป็นได้ บางส่วนก็เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่หลายชนิดเช่นกัน เชื้อที่เป็นสาเหตุของทอนซิลอักเสบ มักจะอยู่ในน้ำลาย หรือไม่ก็เสมหะของผู้ป่วย โดยมักติดต่อจากการที่หายใจเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจาม หรืออาจติดต่อจากการที่สัมผัสกับมือผู้ป่วย ข้าวของเครื่องใช้ของผู้ป่วย หรือสภาพแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ

บีตา-ฮีโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ ถือได้ว่าเป็นเชื้อสำคัญที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดทอนซิลอักเสบเป็นหนอง (exudative tonsillitis) ซึ่งมักพบได้ค่อนข้างบ่อยในเด็กที่มีอายุระหว่าง 5-15 ปี และก็อาจพบได้ในผู้ใหญ่เช่นกัน แต่มักพบเป็นครั้งคราว และพบได้น้อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี การติดต่อหรือการได้รับเชื้อ มักเกิดขึ้นจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นระยะเวลานาน เช่น ในโรงเรียน และหอพัก เป็นต้น

*** ระยะฟักตัวของเชื้ออยู่ที่ 2-7 วัน

วิธีรักษาทอนซิลอักเสบ

1) แนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง ควรให้ผู้ป่วยกินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำซุป นม น้ำหวาน ควรกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือป่นประมาณ 1 ช้อนชา หรือ 5 มล. ในน้ำอุ่น 1 แก้ว) วันละ 2-3 ครั้ง ถ้าเจ็บคอมากให้ดื่มน้ำเย็นหรือเครื่องดื่มเย็นๆ หรืออมก้อนน้ำแข็ง

2) ในรายที่เกิดจากไวรัส (ซึ่งจะมีอาการคอหอยและทอนซิลแดงไม่มาก และมักมีอาการน้ำมูกใส ไอ ตาแดง เสียงแหบ หรือท้องเดินร่วมด้วย) ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาแก้ไอ โดยไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ ก็มักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์

3) ในรายที่มั่นใจว่าเกิดจากเชื้อ บีตา-ฮีโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ ให้การรักษาตามอาการแล้วที่แสดงออกมา และควรให้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนิซิลลินวี หรืออะม็อกซิลลิน ถ้าแพ้ยา 2 ตัวนี้ ให้ใช้ยาอีริโทรไมซินแทน ให้ยาต่อเนื่องซัก 3 วันดูก่อน ถ้าดีขึ้นก็ควรให้ยาต่อจนกระทั่งครบ 10 วัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดไข้รูมาติก หรือหน่วยไตอักเสบแทรกซ้อน

ในกรณีที่อาการของทอนซิลอักเสบไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน กินยาไม่ได้ หรือสงสัยมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่รุนแรง หรือเป็นๆ หายๆ แนะนำให้ผู้ป่วยไปโรงพยาบาล (อาจต้องตรวจเลือด เพาะเชื้อ เอกซเรย์) แล้วให้รักษาตามสาเหตุหรือภาวะที่พบ เช่น

• ถ้าผู้ป่วยเกิดมีอาการอาเจียน หรือกินยาไม่ได้ หรือไม่มั่นใจว่าจะกินยาได้ครบ 10 วันหรือไม่ และไม่มีประวัติการแพ้ยาเพนิซิลลินมาก่อน แพทย์อาจทำการฉีดเบนซาทีนเพนิซิลลิน (benzathine penicillin) ขนาด 600,000 ยูนิต สำหรับผู้ที่มีน้ำหนัก ≤ 27 กก. หรือ 1,200,000 ยูนิต สำหรับผู้ที่มีน้ำหนัก > 27 กก. โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพียงครั้งเดียว

สำหรับในรายที่สามารถกินยาได้ แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะชนิดกินเพียง 5 วัน เช่น โคอะม็อกซิคลาฟ อะซิโทรไมซิน (azithromycin) คลาริโทรไมซิน (clarithromycin) เป็นต้น

• ในกรณีถ้าเกิดพบว่าเชื้อมีการดื้อต่อยาเพนิซิลลิน แพทย์อาจเปลี่ยนไปให้ยากลุ่มอื่น เช่น โคอะม็อกซิคลาฟ เซฟาดรอกซิล เป็นต้น

• ในกรณีถ้าเป็นฝีทอนซิล อาจต้องผ่าหรือเจาะเอาหนองออก

• ในรายหรือในกรณีที่เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง (ปีละมากกว่า 4 ครั้ง) มีอาการอักเสบของหูชั้นกลางบ่อย หรือก้อนทอนซิลโตจนอุดกั้นทางเดินหายใจ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดทอนซิล (tonsillectomy)

4) ในรายที่ไม่มั่นใจว่าเกิดจากเชื้อ บีตา-ฮีโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ เช่น มีเพียงแผ่นหรือจุดหนองบนทอนซิล (ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อไวรัสบางชนิดก็ได้) โดยมีอาการอื่นๆ ไม่ชัดเจน อาจต้องส่งเพื่อตรวจพิเศษเพิ่มเติม ซึ่งในปัจจุบันมีการตรวจหาเชื้อ บีตา-ฮีโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ จากบริเวณคอหอยและต่อมทอนซิล ซึ่งสามารถทราบผลการตรวจวินิจฉัยได้ภายในไม่กี่นาที

ซึ่งในการที่ตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่า มีผลเป็นบวกก็จะให้ยาปฏิชีวนะรักษา แต่ถ้าให้ผลเป็นลบอาจต้องทำการเพาะเชื้อ ซึ่งจะทราบผลภายใน 1-2 วัน

การป้องกันทอนซิลอักเสบ

ในกรณีที่พบว่า มีคนใกล้ชิดป่วยเป็นคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ ควรปฏิบัติการป้องกันเช่นเดียวกับกรณีของผู้ที่เป็นไข้หวัด เช่น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการไอหรือจามรดผู้อื่น และควรสวมหน้ากากป้องกันไว้เพื่อลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น คนที่ยังไม่ป่วย ก็อย่าอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย และอย่าใช้ของใช้ร่วมกับผู้ที่ป่วย และที่สำคัญควรหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่อยู่บ่อยๆ เพื่อกำจัดและป้องกันเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น

คำแนะนำ

1) หากมีอาการเจ็บคอหรือคอหอยอักเสบ ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส และโรคไม่ติดเชื้ออื่นๆ ซึ่งอาจไม่ได้เป็นทอนซิลอักเสบเสมอไป ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะในการรักษาเสมอไป แต่ถ้าเกิดพบคนที่มีอาการเจ็บคอ ควรตรวจดูคอหอยเพื่อแยกแยะสาเหตุให้ชัดเจน และควรใช้ยาปฏิชีวนะต่อเมื่อมั่นใจว่าเป็นทอนซิลอักเสบที่เกิดจากเชื้อ บีตา-ฮีโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอบี เท่านั้น

*** หากไม่มั่นใจให้ส่งตรวจพิเศษ เพื่อวินิจฉัยว่ามีเชื้อหรือไม่

2) ในกรณีที่เป็นทอนซิลอักเสบจากเชื้อ บีตา-ฮีโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอบี ควรเน้นให้ผู้ป่วยกินยาปฏิชีวนะจนครบตามระยะที่กำหนด ถึงแม้ว่าอาการจะทุเลาลงหรือดีขึ้นแล้วก็ตาม เนื่องจากหากได้รับยาไม่ครบตามที่กำหนด อาจทำให้โรคกำเริบขึ้นมาอีก และยังอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นด้วย

*** ผู้ป่วยทอนซิลอักเสบ ควรแยกตัวให้ห่างจากผู้อื่น และอย่าอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น จนกว่าจะให้ยาปฏิชีวนะไปแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้มั่นได้ว่า จะไม่แพร่เชื้อให้กับคนอื่น

*** ปัจจุบันนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาทอนซิลอักเสบอย่างถูกต้อง มักได้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดี ซึ่งทำให้ลดการรักษาด้วยการผ่าตัดรักษาทอนซิลไปได้มากกว่าแต่ก่อน

3) ในกรณีที่ให้ยาปฏิชีวนะรักษาทอนซิลอักเสบแล้วอาการไม่ดีขึ้น ก็อาจเป็นไปได้ว่า อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น ซึ่งรวมทั้งเมลิออยโดซิส ซึ่งพบได้บ่อยในคนอีสานที่มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน




ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *