Categories
Uncategorized

โรคมะเร็ง (Cancer)

“โรคมะเร็ง” มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Cancer ซึ่งคำดังกล่าวมีที่มาจากคำในภาษากรีกว่า Carcinus หรือ Karkinos ซึ่งแปลออกมาตรงๆ ว่า “ปู” แต่คำดังกล่าวก็ยังมีความหมายอย่างอื่นด้วย คือ “กระบวนการไร้ระเบียบ ไม่มีอะไรมาขัดขวางการใช้อำนาจควบคุม” หลายคนอาจงงว่าเหตุใดจึงมีความหมายเช่นนั้น เรื่องนี้ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าเพราะเหตุใด แต่ส่วนใหญ่เข้าใจกันว่า “ลักษณะของมะเร็งนั้นจะมีส่วนที่ยื่นเข้าไปในเนื้อเยื่อปกติโดยรอบเหมือนขาของปู และเกิดขึ้นอย่างไร้ระเบียบอีกทั้งยังไม่สามารถควบคุมได้” จากลักษณะดังกล่าวของมะเร็งจะเห็นได้ว่า มีความสอดคล้องกับความหมายทั้ง 2 ความหมายเป็นอย่างมาก ดังนั้นการใช้คำดังกล่าวเพื่อใช้เรียกมะเร็งจึงค่อนข้างสอดคล้องกับลักษณะของมะเร็งมากที่สุด

โรคมะเร็ง คือ อะไร ?

โรคมะเร็ง คือ กลุ่มของโรคที่เกิดขึ้นจากการที่เซลล์ของร่างกายเกิดความผิดปกติที่ DNA ซึ่งส่งผลให้เซลล์ของร่างกายมีการเจริญเติบโตหรือมีการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์อย่างรวดเร็วมากผิดปกติ ทำให้เกิดก้อนเนื้อที่ผิดปกติขึ้นมา และเมื่อระยะเวลาผ่านไปเซลล์ในก้อนเนื้อดังกล่าวก็จะเกิดการตายของเซลล์ขึ้น เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเจริญเติบโตของหลอดเลือดที่ส่งไปไม่ถึง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หลอดเลือดมิได้ขยายไปยังก้อนเนื้อดังกล่าว

โรคมะเร็งนั้นมีอยู่หลากหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งเท่าที่มีการค้นพบในปัจจุบันนั้นมีมากกว่า 100 ชนิดเลยทีเดียว มะเร็งแต่ละชนิดมักจะมีชื่อเรียกตามการเกิดขึ้นในบริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น มะเร็งปอด, มะเร็งผิวหนัง, มะเร็งสมอง, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งเต้านม, มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น และมะเร็งแต่ละชนิดก็มักจะมีลักษณะของการไปเป็นหรือลักษณะของการดำเนินของโรคไม่เหมือนกัน เช่น มะเร็งปลอด, มะเร็งสมอง จะมีการเป็นไปของของโรคที่รุนแรง ผู้ป่วยมักมีอายุสั้นกว่าผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น

อาการของโรคมะเร็ง

โรคมะเร็งถือได้ว่าเป็นโรคที่ค่อนข้างน่ากลัวเป็นอย่างมาก เพราะโรคมะเร็งนั้นจะไม่แสดงอาการใดๆ ที่เด่นชัดเลยซักอย่างในระยะเริ่มแรกจนกว่าจะเริ่มเป็นโรคไปซักพักแล้ว และส่วนใหญ่ของคนที่เป็นโรคมะเร็งก็มักจะรู้เมื่อเข้าสู่ระยะที่อันตรายแล้ว และเมื่อเข้าสู่ระยะดังกล่าวก็จะมีอาการป่วยที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น อ่อนเพลีย, เบื่ออาหาร, น้ำหนักลด, ร่างกายทรุดโทรม, ไม่สดชื่น จนกระทั่งรู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกได้ว่าอาจเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งสัญญาณดังกล่าวมีดังต่อไปนี้

  • เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ เช่น อุจจาระเป็นสีดำ, อุจจาระเป็นเลือด, ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นต้น
  • เวลากินอาหารจะกลืนอาหารค่อนข้างลำบาก, มีการอาการเสียดท้องแน่นท้องเป็นระยะเวลานาน
  • มีอาการเสียงแหบและไอเรื้อรังอยู่เป็นประจำ
  • มีเลือดหรือตกขาวที่ผิดปกติ ทำให้เลือดหรือตกขาวดังกล่าวมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
  • เมื่อเกิดแผลตามร่างกายแล้วรักษาไม่ยอมหาย หรือใช้ระยะเวลาในการรักษาให้หายนานผิดปกติ
  • มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝตามร่างกาย เช่น ไฝมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าปกติที่เคยเป็น
  • มีก้อนแปลกๆ ที่บริเวณเต้านมหรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย
  • หูอื้อหรือมีเลือดกำเดาไหลบ่อยๆ

หากพบว่าร่างกายมีอาการตามสัญญาณดังกล่าวในข้างต้น ก็ควรรีบไปพบแพทย์และตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อจะได้รู้ว่าเป็นโรคมะเร็งหรือไม่ ทั้งนี้หากพบว่ามีการเป็นโรคมะเร็งก็จะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะโดยส่วนใหญ่ของคนที่เป็นโรคมะเร็งมักจะรู้ว่าเป็นโรคมะเร็งเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายซึ่งยากต่อการรักษาให้หายได้

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็ง

ในปัจจุบันทางการแพทย์ได้ให้ข้อสรุปสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งเอาไว้ 2 สาเหตุหลักๆ ด้วยกัน คือ 1) โรคมะเร็งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก และ 2) โรคมะเร็งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายใน ซึ่งทั้ง 2 สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งนั้นมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. โรคมะเร็งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก กล่าวคือ ร่างกายของคนเราได้รับสารที่อาจทำให้เกิดมะเร็งมาจากการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การสูบบุหรี่, การดื่มสุรา, การได้รับควันบุหรี่หรือควันเสียจากรถยนต์และโรงงาน, การได้รับรังสีจากแสงแดดมากเกินไป, การได้รับสารพิษหรือสารเคมีต่างๆ จากอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ทั้งสิ้น หากไม่มีการระมัดระวังที่เพียงพอ หรือแม้หากจะระมัดระวังอย่างดีแล้วก็ตาม แต่หากต้องใช้ชีวิตร่วมกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้อยู่ตลอดเวลาก็อาจจะทำให้เป็นโรคมะเร็งได้เช่นเดียวกัน
  2. โรคมะเร็งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายใน กล่าวคือ โรคมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของร่างกาย เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมักเกิดขึ้นกับเด็กที่พิการมาแต่กำเนิด, มะเร็งต่อมลูกหมากเกิดขึ้นคนที่เป็นเพศชาย, มะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกเกิดขึ้นกับคนที่เป็นเพศหญิง และมะเร็งอีกบางชนิดที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างทางด้านอายุ นอกจากนี้โรคมะเร็งบางชนิดก็ยังสามารถเกิดขึ้นจากการสืบทอดพันธุกรรมหรือที่เรียกว่ากรรมพันธุ์ได้ได้ด้วย

จากทั้ง 2 สาเหตุในข้างต้น เราจึงสามารถสรุปได้ว่า บุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในปัจจุบันนั้นมีดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่สูบบุหรี่ จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคมะเร็งปอดและโรคมะเร็งกล่องเสียง เป็นต้น
  • ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งตับ ยิ่งถ้าดื่มสุราและสูบบุหรี่จัดๆ ด้วยแล้ว ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งในช่องปาก, เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านม, โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่, โรคมะเร็งเยื่อบุมดลูก, และโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด และอาหารที่มีส่วนผสมของดินประสิวและส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหารเป็นประจำ คนที่รับประทานอาหารในลักษณะดังกล่าวนี้ จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะอาหารและส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
  • ผู้ที่ตากแดดที่ร้อนจัดอยู่เป็นประจำ จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งผิวหนังเพราะได้รับปริมาณของแสดงอุลตราไวโอเลตมากเกินไป ซึ่งส่งผลให้เกิดอันตรายต่อผิวหนัง
  • ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง ก็จะทำให้ตนเองมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้เช่นกัน เพราะได้รับอาจได้รับการสืบทอดยีนที่ก่อให้เกิดมะเร็ง อาทิ โรคมะเร็งของจอตา, โรคมะเร็งรังไข่ และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เป็นติ่งเนื้อ เป็นต้น
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอันเกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมหรือติดเชื้อไวรัสเอดส์ ก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, โรคมะเร็งปากมดลูก และโรคมะเร็งหลอดเลือด เป็นต้น
  • ผู้ที่ติดเชื่อพยาธิใบไม้ตับและรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของดินประสิวอยู่เป็นประจำ คนเหล่านี้ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีในตับ
  • ผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่พบว่ามีการปนเปื้อนขอสารพิษที่ชื่อว่า อัลฟาทอกซิล ซึ่งสารพิษเหล่านี้มักพบอยู่ในเชื่อราที่ป่นเปื้อนอยู่ในถั่วลิสงป่น หากรับประทานอยู่เป็นประจำก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งตับ

การป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง

เมื่อได้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งแล้ว เราก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งกับตัวเรา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การหลีกเลี่ยงดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งถ้าให้ดีเราก็ควรที่จะปฏิบัติตามรายละเอียดดังต่อไปนี้ด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ร่างกายได้ห่างกายจากการเป็นโรคมะเร็งได้ดียิ่งขึ้น

  • รับประทานอาหารจำพวกผักตระกูลกะหล่ำให้มากๆ เช่น กะหล่ำปลี, ดอกกะหล่ำปี, ผักคะน้า, หัวผักกาด, บรอคโคลี่ เป็นต้น ผักเหล่านี้จะช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และโรคที่เกี่ยวกับลำไส้ส่วนปลาย กระเพาะอาหาร และอวัยวะระบบทางเดินหายใจ
  • รับประทานอาหารที่มีกากอาหารมากๆ ได้แก่ ผักและผลไม้ต่างๆ อาหารที่มีกากอาหารมากๆ จะช่วยให้ระบบขับถ่ายสามารถทำงานได้ดีซึ่งจะเป็นการช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี
  • รับประทานอาหารที่มีสารเบต้าแคโรทีนและวิตามินเอสูง เช่น ผักและผลไม้ที่มีสีเขียว, สีเหลือง เพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหาร, โรคมะเร็งกล่องเสียงและโรคมะเร็งปอด
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะการที่ร่างกายมีน้ำหนักมากแสดงให้เห็นว่าร่างกายมีปริมาณไขมันอยู่เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อการเป็นโรคมะเร็งมดลูก, โรคมะเร็งถุงน้ำดี, โรคมะเร็งเต้านม, และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากร่างกายมีน้ำหนักเกินระดับที่เหมาะสมก็ควรลดรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ไขมันต่างๆ และควรหมั่นออกกำลังอยู่เป็นประจำเพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญไขมันส่วนเกินออกไป
  • ตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อที่ว่าหากมีการพบว่าเกิดโรคมะเร็งจะได้ทำการรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นซึ่งจะทำการรักษาง่ายกว่าและมีโอกาสที่จะหายจากโรคมะเร็งมากกว่า

ถึงแม้ว่า “โรคมะเร็ง” จะเป็นโรคที่น่ากลัวมากก็ตาม แต่ทว่า หากเราสนใจและใส่ใจในการดูแลตนเองแล้วละก็ มันก็จะสามารถช่วยให้เราสามารถห่างไกลจาก โรคมะเร็งได้อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น หันมาดูแลสุขภาพกันให้มากกว่าเดิม จะเป็นการดีที่สุด




ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *